054 ธรรมปัจเวกขณ์
ประจำวันที่ - - ตุลาคม ๒๕๒๖

เราปฏิบัติธรรมมาด้วยหลักของชีวิต หลักกินอยู่หลับนอน ฟังชื่อว่าหลัก กิน อยู่ หลับ นอน เราเรียกกัน จนกระทั่งว่า เป็นคำกรรมฐาน ในการปฏิบัติของเรา ให้พิจารณาจริงๆ ในการกิน ไม่ใช่พิจารณาแต่คิด ต้องพิจารณาต่อผัสสะ ตั้งแต่เรานึก เราคิดอยากกินนั่น คิดอยากกินนี่ ก็ต้องพิจารณาความคิดว่า มันไปเกี่ยวกับอาหาร ไปเกี่ยวกับสิ่งที่จะกิน ทั้งคิด ทั้งสัมผัส ทั้งพูด สัมผัสอยู่ทันทีโทนโท่ กำลังแตะ กำลังเห็น กำลังจะหยิบ กำลังจะจับ กำลังจะกิน หรือแม้แต่พูดถึง เราก็พิจารณา วิเคราะห์วิจัยดูจิต ดูอารมณ์ของเราทั้งสิ้น ดูอาการของจิต คิดก็ดี พูดก็ดี ยังไม่เกี่ยวข้อง ยังไม่สัมผัส ยังไม่ได้แตะกับ อาหารนั้นเลย หรือของที่กินนั้นเลย มันก็เกิดปฏิกิริยาต่อจิตเราได้ แค่คิดอยากกิน แค่คิดชอบอย่างนั้น ชังอย่างนี้ หรือ คิดอะไรต่างๆนานา เกี่ยวกับอาหารจะกิน จนกระทั่งพูด พูดก็มาจากจิตเป็นเอก เหมือนกัน

พูดไป บางทีพูดไป จิตเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะหน่อย เราก็พูดไป บางทีมันสมควรไม่สมควร เราก็ต้องพยายาม บางทีเราก็พูดอนุโลมเขา แต่ใจเราไม่เป็น และบางทีใจเรา มันเป็นด้วยซ้ำไป แต่เราก็โกหกคนอื่นเขา อะไรพวกนี้นะ

เราจะต้องพิจารณาสภาพที่ว่า ให้มันเป็นกุศล กุศลแก่จิต มาจากจิต มาจากวาจา จนกระทั่ง ถึงข้างนอก กายกรรม สัมผัส มีวัตถุนั้น แตะต้องแล้ว เห็นแล้ว แตะต้องแล้ว สัมผัสแล้ว ได้กลิ่นแล้ว เคี้ยวเอาเข้าปาก ได้รับรสแล้ว พิจารณาให้จริงๆ พิจารณาโดยการปรับปรุง โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมของ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม บางทีเปลี่ยน ทางกายเราไม่แตะต้อง เราไม่จับ เราไม่หยิบ ไม่เอาเลย เมื่อไม่เอาแล้ว จิตใจเป็นอย่างไร ก็ปรับจิตต่อ อย่าให้จิตมันอยาก ใจมันอยาก เราก็บอกว่า เอาหละ ไม่ให้มัน ใจมันอยาก ไม่ให้มัน มือไม่เอา กายไม่จับไม่เอา แต่ใจมันเอา ก็ต้องปรับอย่าให้ ใจมันวาง ให้มันวาง ให้มันปล่อย ให้มันคลาย พิจารณาด้วยกดข่ม ด้วยอดทน ด้วยวิธีการนานาวิธี ที่เราสามารถ จะให้มันจางคลาย ปล่อยวาง ไม่ให้มันอยาก ไม่ให้มันโหย ไม่ให้มันหา ไม่ให้มันอาวรณ์

หรือแม้มันชัง ใจมันชังเอาเราจะเอา มันผ่านมา มันชัง เอามันดู นี่มันเป็นอาหาร มันเป็นของที่คนอื่นเขากิน มีคุณค่า มีธาตุอาหาร รู้ซะด้วย แต่เราไม่ชอบหรอก เราไม่ติด เราก็รับมันมากิน กินให้มันเป็นไป โดยจริง กินดีๆ กินให้มันราบรื่น กินไม่ให้มีใจฝืดใจฝืน กินมันเป็นธาตุอาหาร แล้วมันก็เป็น คุณค่าอาหาร ที่ดีด้วย เราก็ควรกิน ควรทำ แล้วก็หัดวางใจ พวกนี้เป็นการปฏิบัติธรรม ทั้งสิ้น

ปฏิบัติโดยฝึก โดยยอกย้อน จนสุดท้าย เราเองเราชอบ เราชอบแล้วเราก็วางใจได้ด้วย ชอบ วางใจได้แล้ว แต่ก่อนชอบ ตอนนี้เราวางใจได้แล้ว แล้วเราก็จะเอา จะหยิบ จะจับละ ตอนนี้กายสัมผัส แต่ใจไม่ได้ดูดซึม ใจไม่ได้ติดอาหาร บอกแล้ว แม้เราจะต้องเป็นพระอริยะ ขั้นพระอรหันต์ ยังจะต้องกิน เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้อง ปฏิบัติอย่างยิ่งจริงๆ แล้วเราก็จะสัมผัส จะผ่านมัน

ถ้าเรายังหลงเป็นไม่ว่าอะไรๆอยู่ เราก็จะต้องเจอมัน ในธรรมชาตินี่แหละ แล้วมันก็จะไม่รู้จักจบ จักสิ้น จนกว่า เราจะอยู่เหนือมันจริงๆเลย ว่ามันอยู่ก็อยู่ เราสัมผัสสัมพันธ์มัน เราจะกินมันก็กิน แต่ใจเราไม่ติดไม่ยึดแล้วจริงๆ ไม่ได้ชอบ ไม่ได้ชัง ของควรกินก็กิน ก่อนนี้เราเคยชังมันนะ เดี๋ยวนี้เราก็กินมันได้ โดยที่เรียกว่า ไม่ได้ชังอะไร ก็กินพอประมาณ ธรรมดาๆ ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้ร้อนอะไร ของชอบ แต่ก่อนนี้ กินด้วยชอบ ด้วยติด ด้วยยึด ด้วยเอร็ดอร่อย เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เอร็ดอร่อยอะไร ก็พอประมาณ พอเป็นไป ไม่กินก็ได้ กินก็ได้ อย่างนี้ใช้อาศัย พิสูจน์ดูซิ ดูใจ อ่านใจ

เรื่องอาหารนี้ อ่านใจได้ดีมากๆ เราจะรู้เลย มันเหลือนิดหน่อย เหลือนั่น เหลือนี่ แต่อ่านยากเหมือนกันนะ ชอบกับ วางแล้วนี่ บางทีมันมีง่าย เคยอธิบายให้ฟังแล้วว่า บางอย่างมันง่าย รสมันง่ายกินแล้ว อย่างพริกกินยาก กินยาก แล้วเราก็พยายามกิน แล้วเราจะบอกว่า เราไม่ชอบ ก็ต้องอ่านใจซ้อนดีๆ ว่าไม่ใช่ไม่ชอบนะ แต่จริงๆแล้ว มันกินยาก หรือแม้แต่ขม ขมมันก็กินยาก แต่พริกเผ็ด กับสะเดาขม นี่นะ พริกกินยากกว่าสะเดา เราก็ต้องเปรียบเทียบ จิตใจของเรา หรือบางอย่าง มันกินง่าย แต่ก่อนเคยชอบด้วย ชอบกับไม่ชอบแล้วนี่ แต่มันง่าย กินของที่มันจืด หรือว่ามันหวาน แต่ก่อนเคยอร่อยหวาน เคยติดหวานด้วยซ้ำ แล้วเราก็อ่านจิต ให้ละเอียด ละเมียดละไมเลยว่า ตอนนี้ไม่ชอบจริงๆนะ เป็นยังไง ซึ่งอาตมา บอกไม่ได้ว่า คุณเอง คุณจะชอบหรือไม่ชอบ มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บอกคุณไม่ได้หรอก คุณต้องรู้ใจ ของตัวเอง แล้วเปรียบเทียบวางใจ ให้สนิทสนมชัดๆ เราจะได้เป็น ผู้ที่รู้อาการของจิต อย่างแยบคาย

ในสิ่งเหตุปัจจัยอื่น ไม่ว่าแต่เรื่องอื่นๆใดๆ มันก็สัมผัสมาถึงจิต เกิดเวทนา สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ ชัง ไม่ชัง พวกนี้ โทมนัส โสมนัส เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ใดปฏิบัติ มีปัญญาในการรู้จิต อ่านจิต แยบคายดีแล้ว ผู้นั้นได้ปัญญาทางธรรม เหตุปัจจัยอื่นๆ มันก็มีนัยสงเคราะห์เข้าคล้ายกัน มันอาจจะไม่คล้ายทีเดียวก็ได้ เพราะว่า เหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน มันจี๋จ๋ากว่ากัน มันหยาบกว่ากัน มันละเอียดกว่ากัน อะไรอีกเยอะแยะ แต่มันก็มีลักษณะ รวมๆ เป็น มโนปวิจาร ๑๘ รวมลงมา เป็นเวทนา สุข ทุกข์ หรือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ โดยเป้าหมาย เราก็พยายามให้เป็น สภาพไม่สุข ไม่ทุกข์ โดยการสัมผัส แม้เราจะรับอยู่ หรือไม่รับก็ตาม

สุดท้าย เราก็ไม่ต้องรับอันนี้เลย ไม่ต้องแตะต้องอันนี้ ขาดไปเลย แต่บางอย่าง มันจำเป็นจะต้องรับ ต้องแตะอยู่ แต่เราก็ใจวาง ใจขาด ใจสงบ ใจดับสนิท ซึ่งกิเลสแล้ว เราจะต้องอ่านศึกษา จริงๆ จึงจะรู้ความจริงว่า สุดท้ายแล้ว แม้เราจะสัมผัส หรือไม่สัมผัส แม้เราจะละขาดเลยแล้ว แต่เราก็ยังจะต้อง อยู่กับมันในโลก เราก็เหนือมันอย่างเด็ดขาด เพราะจิตของเรานั้น วิมุติหลุดพ้น ไม่ติด ไม่ยึด ไม่ชอบ ไม่ชัง ไม่จริงๆ แล้วเราก็อยู่กับมันได้ อย่างสนิทเนียน อยู่ได้อย่างจิตว่างๆๆๆ จะเป็นยังไง จะมากจะน้อย เราก็รู้ว่า ไอ้นี่มาก ไอ้นี่น้อย เราจะรู้ค่าด้วยซ้ำไปว่า นี่เผ็ดจัด นี่ขมจัด มันขมน้อย ยากหน่อยนะ ไอ้นี่เผ็ดจัด ก็ยากหน่อย นี่ขมมากก็ยากกว่า ขมน้อยดีง่ายหน่อย หรือจืดๆ จางๆ ก็ยิ่งง่ายกว่า อะไรพวกนี้ เราจะเข้าใจ สภาพจริงว่า แม้แต่ว่าเราชอบ ไม่ชอบ หรือว่ามันไม่ชอบ ชอบก็ไม่มี ไม่ชอบก็ไม่มี แต่ว่ามันยาก สัมผัส รับเข้ามา มันยาก มันง่ายกว่ากันบ้าง ก็ขอให้เข้าใจ นัยอันละเอียด พวกนี้ด้วย แล้วเราก็จะหมด วิจิกิจฉา จะไม่สับสน ในการที่จะรู้ความจริง ของอารมณ์จิต หรือ มโนปวิจาร หรือ จิต-เจตสิก อารมณ์ของจิต เป็นที่สุด

แล้วเราก็จะเข้าใจ จะรู้ความจริง ความเป็น ความมี ของเราได้อย่างของจริง ไม่ใช่เดา ไม่ใช่ไปเที่ยวคำนวณ ด้นเดา สภาพธรรม แต่มีของตนเองให้อ่าน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมด้วยการกิน ด้วยเรื่องของอาหาร ที่มันเป็นอาหาร คำข้าวโดยตรงนี่แหละ จึงเป็นเรื่องของ ปรมัตถธรรม อย่างยิ่ง มีผัสสะ มีมโนสัญเจตนา มีวิญญาณาหาร อยู่ในนั้นเสร็จ สอดซ้อนอยู่ในนั้น

ขอให้เราได้ปฏิบัติธรรมทุกวัน มีการพิจารณาอาหาร มีการบอกกล่าว เป็นเรื่องอื่นก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า พาเล่าพาพูดถึงเรื่องอื่นๆ แล้วเราคิดกิน กินอาหาร ก็กลับไม่ได้พิจารณามันเลย สติตก สัมผัส สัมพันธ์มันอยู่ ก็ไม่ได้ประโยชน์ จากการกินอาหาร อย่างนั้นก็ขาดทุน ก็ขอให้อย่าปล่อยปละ ละเลย อย่าลืมพิจารณา ไปให้สนิทเนียนไปเลย เมื่อไหร่ๆก็เถอะ แม้คุณจะเป็น พระอริยเจ้าชั้นสูงๆๆ แม้แต่ เหลือเศษนิดเศษน้อย เป็นรูปราคะ เศษนั่นเศษนี่ เราจะรู้ธรรมะที่ชัดเลยว่า อ๋อ! อย่างนี้พ้นกามแล้ว อย่างนี้ เราทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบาก แต่ยังมีเศษ อาสวะอยู่นะ เป็นรูปราคะบ้าง เป็นอรูปราคะบ้าง เล็กๆน้อยๆ เราจะเข้าใจเลยว่า ชอบหรือชัง เป็น ภวตัณหา วิภวตัณหา อยากหรือไม่อยาก

เราจะเข้าใจ สภาพธรรมเหล่านั้น จึงจำเป็น การศึกษาที่แท้ มีของจริง เกิดจริง เป็นจริง มีองค์ประกอบ กาโย มีความประชุม อยู่ร่วมอยู่พร้อม แต่เราสามารถ มีความสามารถแน่ สามารถแท้ อยู่ที่เราเหนือ และ รู้ความจริง ว่าเหนืออย่างชัดเจน เหลือยู่บ้าง พอทนทุกข์ได้ หรือไม่ต้องทนเลย ถอนอาสวะสิ้นเลย เราก็จะรู้ว่า "ถอนอาสวะ" พ้นรูปราคะ พ้นอรูปราคะ แล้วไม่มีกิเลสใหม่ ที่เป็นมานะ แม้แต่ที่สุด เราก็อยู่กับโลกเขา ยังอาจหาญ ไม่มีการสะดุ้งสะเทือน สะเทิ้นสะท้าน เป็นอุทธัจจสังโยชน์ ใดๆเลย อยู่กับเนียบ และความจริง

คนอื่นจะตู่จะท้วงอย่างไร เราก็รู้ได้ด้วยวิชชา ไม่มีอวิชชา ไม่มีอุทธัจจะ และไม่มีมานะ ที่จะทำอยู่กับสังคม อยู่กับใคร จนกลายเป็นความแตกร้าว เป็นความไม่สมานสามัคคี ไม่สันตะ เราอยู่อย่างสันติ และเราอยู่กัน อย่างเป็น ผู้ที่มีบทบาทอันงาม เป็นที่น่าเลื่อมใส และขัดเกลาเขาได้ด้วย ช่วยเหลือเขาได้ด้วย ประโยชน์ตนสมบูรณ์ ประโยชน์ท่าน ก็ได้ฝึกหัดทำประโยชน์ และจะฉลาด จะสามารถในการทำประโยชน์ท่าน ให้ผู้อื่นได้รู้ธรรมะ และ ก็พยายามให้เขาได้รู้ธรรมะ พ้นทุกข์ พ้นสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหา อุปาทานไปด้วย ก็เท่ากับ เราเป็นผู้ที่ สืบสานศาสนา เป็นธรรมทายาท ได้รับผลของตน และได้ช่วยงานศาสนา กตัญญูกตเวที ไปตลอดชีวิต จะหาไม่

สาธุ.